อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย หากเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวแล้วกินยาหายก็ย่อมถือว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่เคยกันหรือไม่คะจู่ๆ ก็มีอาการปวดหลังชนิดรุนแรงเรื้อรังและปวดหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งนั่นกำลังส่อสัญญาณว่าคุณอาจป่วยเป็นวัณโรคกระดูกซะแล้วล่ะ
ใช่แล้วค่ะ.. วัณโรคกระดูก คุณฟังไม่ผิดหรอก! หลายคนอาจเคยได้ยินแต่วัณโรคซึ่งเกิดกับปอดแต่เพียงเท่านั้น ทว่าปัจจุบันวิวัฒนาการของโรคก็พัฒนาการมาเรื่อยๆ ไม่แพ้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยของมนุษย์เราเช่นกัน
ฉะนั้น หากคุณกำลังเผชิญกับปัญหาปวดหลังเรื้อรังอยู่ อย่าทนปวดทรมานแสนนานอีกเลย.. จงโยนยาทานวดและยากินทั้งหลายทิ้งเสียให้หมดแล้วพาตัวเองมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษากันดีกว่า
ไม่เช่นนั้นแล้ว วัณโรคกระดูกอาจทำลายกระดูกของคุณจนนำความทุกข์ทรมานมาสู่ร่างกายในระยะยาวก็เป็นได้ และในวันนี้หากใครยังไม่รู้ว่าวัณโรคกระดูกเป็นอย่างไร อย่ารอช้า.. รีบตามเรามาทำความรู้จักโรคชนิดนี้กันดีกว่าค่ะ
วัณโรคกระดูกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
วัณโรคกระดูกเป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส ผ่านเข้าไปยังปอดจนทำให้ปอดมีการติดเชื้อจนกลายเป็นวัณโรคที่ปอดก่อนจากนั้นมันจึงจะแพร่ลามไปยังส่วนอื่น
ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 15% ของการได้รับเชื้อมักจะมีเชื้อโรคแทรกซึมผ่านกระแสเลือดจนลุกลามไปยังอวัยวะในส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อไป เช่น สมอง ต่อมน้ำเหลือง ไตและกระดูก เป็นต้น
เมื่อเชื้อได้ซึมแทรกตัวเข้าไปสู่กระดูกมันจะทำลายกระดูกของเรา จนทำให้ผู้ป่วยเป็น ‘วัณโรคกระดูก’ หรือ ‘วัณโรคกระดูกสันหลัง’ (Tuberculosis of Spine)
โดยส่วนใหญ่แล้ว เชื้อโรคนั้นมักจะเข้าไปเกาะติดอาศัยอยู่ในกระดูกสันหลัง ข้อต่อ ข้อเข่าและหากมันยึดเกาะเป็นเวลานานกระดูกก็จะเกิดการถูกทำลายจนมีการยุบตัวลงได้
ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความผิดปกติตามมา เช่น แผ่นหลังเกิดการโก่งงอ เกิดหนองหรือมีเศษกระดูก มีอาการของหมองรองกระดูกเลื่อนและเมื่อเชื้อแล่นเข้ามาทำลายยังช่องไขสันหลัง ก็จะเกิดการกดทับประสาทที่บริเวณของไขสันหลังจนกลายเป็นอัมพาตที่ขาต่อไป
วัณโรคกระดูกเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้หรือไม่
โดยปกติแล้ว โรคทุกชนิดในร่างกายคนเรา เมื่อเกิดกับอีกคนหนึ่ง หลายคนก็ย่อมอยากรู้ว่ามันจะมีการแพร่กระจายไปสู่คนรอบตัวได้ด้วยหรือไม่ และนี่ก็คือ สิ่งที่ทุกคนควรตั้งข้อสงสัยและพึงระวังพร้อมกับหาคำตอบของโรคนั้นๆ ไว้พร้อมกัน
จะได้หลีกเลี่ยงและหาวิธีรับมือป้องกันไม่ให้ตนเองเกิดการติดเชื้อไปด้วย โดยเฉพาะกับผู้ที่จะต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วย เพราะโอกาสในการติดเชื้อจากคนในครอบครัวด้วยกันย่อมมีสูงกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไกลที่อยู่ห่างกันออกไป
สำหรับในกรณีของการวัณโรคกระดูกนั้น หลายคนก็อาจจะมีคำถามให้ชวนคิดเช่นเดียวกันจริงมั้ยคะ? ซึ่งคำตอบก็คือ วัณโรคกระดูกสามารถถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ รอบตัวได้ค่ะ
โดยเริ่มจากการที่คนรอบตัวสูดเอาเชื้อที่ออกมาจากสารคัดหลั่งในขณะที่ผู้ป่วยจามหรือไอออกมา นอกจากนี้ ยังสามารถติดเชื้อจากหนองของร่างกายผู้ป่วยด้วยได้ การทานอาหารบางชนิด เช่น การดื่มนมวัวดิบจากวัวที่เป็นวัณโรค และภาชนะสำหรับใส่อาหารทานหากมีเชื้อวัณโรคปนเปื้อนอยู่เราก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน
บุคคลซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคกระดูก
แท้จริงแล้ว การติดเชื้อวัณโรคกระดูกนั้นสามารถติดต่อกันได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ทั้งหญิง-ชายและวัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเด็กและคนชราย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อค่อนข้างสูงกว่า
เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าวัยทั่วไป นอกจากนี้ คนที่มีอาการป่วยเรื้อรังอื่นๆ หรือแม้แต่คนที่ติดเชื้อ HIV ก็ล้วนมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคกระดูกได้สูงเช่นเดียวกัน
อาการวัณโรคกระดูกที่ไม่ใช่แค่ปวดหลังธรรมดา
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อวัณโรคในระยะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เชื้อจะมีการลุกลามไปยังกระดูกและข้อต่อ จนทำให้มีอาการต่างๆ ตามมา ตั้งแต่อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
อาการในแรกเริ่มอาจจะเป็นเพียงเล็กน้อยก่อนจากนั้นมันจึงจะค่อยๆ ทวีอาการรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งผ่านพ้นไปสัก 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ชัดเจนมากขึ้น ร่วมกับการมีไข้ต่ำตอนเย็น มีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดตามมา
หลายคนที่ติดเชื้อวัณโรคแล้วมีอาการเหล่านี้ มักเข้าใจไปว่าตนเองแค่ปวดหลังธรรมดาเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าหากคุณปล่อยไว้นานโดยไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาก็จะส่งผลให้กระดูกสันหลังโก่งงอขึ้นได้
เนื่องจากเชื้อร้ายจะเข้าไปทำลายกระดูกซึ่งหากมันเกิดการกดทับระบบประสาทร่วมด้วย ผู้ป่วยก็จะมีอาการขาชา ส่งผลให้ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก บางรายมีอาการร่วมกับต่อมน้ำเหลืองโตและเดินกะเผลกแบบผิดปกติอีกด้วย
นอกจากนี้ เรายังพบข้อมูลซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ป่วยวัณโรคกระดูกส่วนใหญ่นั้นมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณส่วนเอวประมาณ 30-50% เมื่อเชื้อแทรกซอนเจาะลึกเข้าไปยังกระดูกสันหลังส่วนเอวแล้วล่ะก็ อาการปวดหลังก็จะยิ่งทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่สามารถยืนตัวตรงได้เลยทีเดียว
การวินิจฉัยวัณโรคกระดูก
จะว่าเป็นข้อเสียที่มาพร้อมการเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหลายคนที่มีอาการปวดหลังมักจะเข้าใจไปว่าตนเองแค่ปวดหลังธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นกันได้ทั่วไป
จึงไม่นึกเอะใจเพื่อจะมาพบแพทย์ นอกจากร่างกายจะมีอาการปวดรุนแรงหนักๆ และมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงสุดๆ แล้วนั่นแหละจึงจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
ดังนั้น หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอาการดังที่เราชี้แจงเบื้องต้น ร่วมกับมีอาการปวดหลังมากขึ้นเรื่อยๆ หากทานยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาโรคกันดีกว่านะคะ โดยแพทย์จะให้การวินิจฉัย 2 วิธีดังนี้
1.ตรวจทางรังสี
การวินิจฉัยผ่านทางรังสีนั้นจะทำให้เราได้ทราบลักษณะของกระดูกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น กระดูกสันหลังมีการถูกทำลายแล้วหรือไม่ มีลักษณะโก่งงอหรือไม่ หมอนรองกระดูกแคบลงหรือไม่ เพราะหากลักษณะของกระดูกสันหลังมีความผิดปกติจริง นั่นก็หมายความว่า เชื้อวัณโรคได้ทำลายกระดูกสันหลังผู้ป่วยไปแล้วนั่นเอง
2.ตรวจด้วยทีซีสแกนหรือ MRI
เป็นการตรวจดูลักษณะของกระดูกสันหลังว่ามีหนองหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจดูการถูกทำลายของกระดูกสันหลัง กระดูกไขสันหลังและเส้นประสาทว่าเกิดการกดทับด้วยหรือไม่นั่นเอง
วิธีป้องกันวัณโรคกระดูก
1.ดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน
ควรหันมาใส่ใจสุขภาพให้แข็งแรงก่อนเป็นหลักค่ะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรคกระดูก โดยทำได้ง่ายมากๆ เริ่มจากดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ทัดทานเชื้อทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากเราอดนอนหรือนอนไม่พอเมื่อไร ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องตามมาเสมอและนั่นเองสาเหตุง่ายๆ อันนำมาสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ
2.ป้องกันการรับเชื้อจากคนรอบตัว
หากคุณพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการป่วยคล้ายกับอาการหวัด โดยไอหรือจามปกติทั่วไป จงอย่าเพิ่งด่วนสรุปไปว่าเขาอาจเป็นหวัดธรรมดาเท่านั้น เพราะละอองที่ปลิวออกมาร่วมกับเสมหะหรือสารคัดหลั่งอาจมีเชื้อวัณโรคเจือปนอยู่ด้วยก็ได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นพยายามปิดจมูก ปิดปากของตัวเราเองเพื่อป้องกันการรับเชื้อโดยการสูดดมทางจมูกและปาก หากมีความจำเป็นจะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว
3.ตรวจสุขภาพทุกปี
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือมีอาการไอ จามเป็นประจำโดยยังไม่ทราบสาเหตุ ควรพาทั้งผู้ป่วยและตัวคุณเองไปตรวจสุขภาพบ้างเป็นประจำ โดยเฉพาะการเอกซเรย์ปอดเพื่อให้รู้เท่าทันเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อวัณโรคจากคนรอบตัวไปด้วยนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับการติดเชื้อวัณโรคจนกระทั่งเชื้อนั้นลุกลามจากปอดผ่านกระแสเลือดมายังอวัยวะสำคัญอื่นๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะการเกิดวัณโรคกระดูก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาการดังกล่าวโดยเฉพาะการปวดหลังนั้น ล้วนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตในปัจจุบันซึ่งเราอาจจะนั่งทำงานผิดท่า นอนผิดวิธีหรือแม้แต่การออกกำลังกายหรือยกของหนัก ตลอดจนอาการป่วยไข้ต่างๆ ก็ย่อมนำมาซึ่งอาการปวดหลังร่วมด้วยได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ใครกันบ้างละคะที่จะทันนึกเอะใจว่าเราอาจจะติดเชื้อวัณโรคกระดูกเข้าไปเสียแล้ว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้สายจนเกินแก้ เมื่อพบว่าอาการปวดหลังมีความผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ จงรีบไปพบแพทย์กันแต่เนิ่นๆ ดีกว่านะคะ จะได้รักษาโรคดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ หากพบว่าคนรอบตัวคุณบ่นถึงอาการปวดหลังอยู่บ่อยๆ จนแน่ใจว่าอาจปวดเรื้อรังมาเนิ่นนานแล้ว ก็ควรบอกข้อมูลเกี่ยวกับวัณโรคกระดูกให้เขาได้ทราบบ้าง เพื่อกระตุ้นสติให้เขาฉุกคิดและรีบไปพบแพทย์รักษาอย่างทันการณ์ต่อไป