สุขภาพ

เลิกบุหรี่ด้วยอาหาร

“อาหารจะช่วยให้ผู้สูบมีต่อมรับรสต่อรสชาติของบุหรี่เสียไป สูบแล้วไม่รู้สึกอร่อยเหมือนเคย ดังนั้นการเลือกกินอาหารที่เอื้อต่อการเลิกบุหรี่ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูบสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่าคนที่ไม่คุมอาหารการกิน” ผศ.ดร.ชนิดา เกริ่นถึงความสำคัญของอาหาร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ฟังว่า

“แม้ในใบขี้เหล็กจะมีสารที่ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น แต่หากกินมากเกินไป อันตรายจากกะทิและความหวานของแกงขี้เหล็กก็รอทำร้ายสุขภาพให้ผู้สูบอ้วนขึ้น ฉะนั้น ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการจะเลิกสูบ จึงควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้สูบนอนหลับดีขึ้นเท่านั้น ยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารดี ๆ อย่างเอ็นดอร์ฟินที่ช่วยให้รู้สึกมีความสุขออกมาด้วย ซึ่งแตกต่างจากการได้รับสารที่ช่วยให้รู้สึกมีความสุข จากการกระตุ้นของ “นิโคติน” สารพิษที่มีแต่ให้โทษแก่ร่างกาย”

สลัดผัก

ผักผลไม้ ลดความอยากบุหรี่

อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการเพื่อการป้องกันและบำบัด ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ขณะเลิกสูบบุหรี่ผักผลไม้เป็นอันดับหนึ่งที่ควรจะเลือกกิน เพราะผักและไม้จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ รู้สึกขมปาก ฉะนั้นในช่วงอดบุหรี่แต่ละมื้อ 1 จานข้าว ควรจะมีผักประมาณครึ่งหนึ่งของจาน จากนั้นมีผลไม้จานเล็กสักประมาณ 7-8 ชิ้นคำ หรือผลไม้ลูกเล็กสักประมาณ 4-5 ลูก เลือกกินข้าวซ้อมมือที่มีใยอาหารมาก น้ำตาลน้อย ก็จะช่วยให้อิ่มท้องนาน ไม่อยากสูบบุหรี่

เนื้อปลา

หวาน มัน เค็ม และเนื้อแดง ตัดทิ้ง

ไม่เพียงรสชาติหวาน มัน เค็ม ของผู้สูบจะไปกระตุ้นการสูบบุหรี่มากขึ้น แต่ “เนื้อสัตว์สีแดง” ทั้งหลาย ก็เคยมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า หากเลือกกินมากไป ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกายมีความอยากสูบบุหรี่มากขึ้น ขณะที่เนื้อปลา เนื้อไก่สีขาว จะไม่เพิ่มความอยากในการสูบบุหรี่ จึงเหมาะสมในการเลือกรับประทานในช่วงเลิกสูบบุหรี่มากกว่า

น้ำเปล่า

ชา/กาแฟ เลิกบุหรี่ไม่ควรดื่ม ดื่มน้ำเปล่าดีกว่า

เพราะคาเฟอีนจากทั้งในชาสีเข้มและกาแฟ จะส่งผลให้การสูบบุหรี่มีรสชาติดีขึ้น อร่อยขึ้น ยิ่งดื่มมาก จึงมีโอกาสที่จะทำให้ผู้สูบ สูบบุหรี่ได้ง่ายมากขึ้น ช่วงเวลานี้ จึงควรดื่มหรือน้ำเย็น และเลือกดื่มน้ำผลไม้ทดแทนจะดีกว่า

มะนาว

วิตามินซี ลดความหงุดหงิด เสริมภูมิคุ้มกัน

อ.นักโภชนาการผู้เอื้ออารี ยังบอกด้วยอีกว่า การกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวแทนจะช่วยให้ไม่อยากสูบบุหรี่ ฉะนั้นเวลาที่ต้องการจะสูบ จึงควรมีมะนาวตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไว้ผลัดกันอมกับกานพลู ที่มีสารช่วยลดอาการหงุดหงิดและความอยากสูบบุหรี่ในผู้สูบลง โดยเฉพาะการเคี้ยวกานพลู มีงานวิจัยพบว่า จะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคี้ยวกานพลู ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้เพียงร้อยละ 12

นอกจากเรื่องของอาหารการกินแล้ว ความตั้งใจจริงและกำลังใจจากคนรักคนรอบข้างของผู้สูบก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ดังนั้น หากคนใกล้ตัวคุณกำลังเลิกสูบบุหรี่ แล้วมีอาการหงุดหงิดใส่บ้างเป็นครั้งคราว อย่าลืมใจเย็น และสร้างบรรยากาศของความสบายใจที่จะเอื้อให้ผู้สูบ “เลิกสูบบุหรี่” ได้จริงนะคะ